V ARE CONNECTED
VARASARN STUDENT COMMUNITY
 
บทสัมภาษณ์
อุรุพงศ์ รักษาสัตย์
11 ก.ค. 2560

ที่มา: จุลสารธรรมศาสตร์ TUNEWS เมษายน 2560 ปีที่ 50 ฉบับที่ 3

เมื่อกล่าวถึงวงการภาพยนตร์ไทย “สารคดี” ดูจะเป็นประเภทของภาพยนตร์ที่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก หรืออาจถูกเรียกได้ว่าเป็นของขม เพราะมีคำว่า ‘สาระ’ ที่ได้ยินแล้วชวนง่วงในความรู้สึกของ ใครหลาย ๆ คน แต่สำหรับอาจารย์อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับมองเห็นถึงเสน่ห์ของ ‘หนังสารคดี’ ที่มีหน้าตาไม่ต่างจากหนังเล่าเรื่องทั่ว ๆ ไป แม้จะไม่ได้หวือหวาด้วย เทคนิคพิเศษ หรืออุปกรณ์ประกอบฉากที่ตระการตา แต่รสชาติของ มันคือ ‘ความจริง’ ที่ทำให้คนดู ‘เชื่อ’ และสัมผัสได้ถึงธรรมชาติ ของสิ่งที่ต้องการนำเสนอ ทั้งยังประณีตในด้านภาพ และบางครั้งภาษาของหนังสารคดียังมีพลังเหนือกว่าหนังประเภทอื่น ๆ เสียอีก ซึ่ง อ.อุรุพงศ์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วด้วย 5 รางวัลจากเวทีสุพรรณหงส์ อาทิ ภาพยนตร์เรื่องสวรรค์บ้านนา (Agrarian Utopia) รางวัลภาพยนตร์ แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 20 สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และถ่ายภาพยอดเยี่ยม เพลงของข้าว (The Songs of Rice) สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมและถ่ายภาพยอดเยี่ยม และล่าสุดกับ ธุดงควัตร (Wandering) ผลงานกำกับภาพที่คว้ารางวัลสาขาถ่ายภาพ ยอดเยี่ยมมาได้ นอกจากนี้ ยังมีรางวัลจากเวทีนานาชาติอีกมากมาย ที่การันตีความสามารถและตอกย้ำเสน่ห์ของหนังสารคดีในสไตล์ ของอาจารย์อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ได้อย่างชัดเจน

อาจารย์อุรุพงศ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำหนังสารคดีว่า “เมื่อก่อนผมก็เคยทำโปรดักชั่นหนังใหญ่ เคยเป็นตากล้อง 2 เคยทำตัดต่อ แต่ลึก ๆ คือเรารู้สึกว่าเรามีเรื่องของเราที่อยากจะเล่า แต่เราทำไม่ได้ในสเกลที่มันใหญ่ขนาดนั้น และก็คิดว่าเรามีลักษณะธรรมชาติอะไรบางอย่างที่ไม่เหมาะกับหนังใหญ่ เราเลยออกมาทำเอง ตั้งกลุ่มอิสระที่ชื่อปลาเป็นว่ายทวนน้ำ ออกมาทำหนังอิสระ ทำหนังที่มันเล็กลงไป ใช้ทุนน้อยแต่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำจริง ๆ อาจจะ ใช้เวลาหน่อย ถ่ายนานหน่อย แต่นั่นแหละคือ สิ่งที่หลอมตัวตนบุคลิก ของเราเป็นอันเดียวกับหนัง คือเราจะสนุกกับงานที่เราทำ พอทำไป เรื่อย ๆ สิ่งที่เรารัก เราทำก็เกิดเป็นสไตล์เฉพาะขึ้น”

เสน่ห์ของการทำหนังสารคดี สำหรับอาจารย์อุรุพงศ์คือ “การได้เข้าไปคลุกคลี ทำความรู้จักกับชาวบ้านจนเขาสนิทใจ เขาก็จะให้ข้อมูลกับเรา ทำให้เราเล่าเรื่องได้อย่างเป็นธรรมชาติ และสามารถที่จะเจาะเข้าไปในเรื่องลึก ๆ ของเขาได้ การที่มีเงินทุนมากมันสามารถทำอะไรที่วิจิตรตระการตาได้ก็จริง แต่หนังบางสไตล์ไม่ได้ต้องการแบบนั้น มันต้องการความจริงที่เข้าถึงจิตใจของผู้ชม (touching) ซึ่งถือว่าเป็นสไตล์ที่ผมถนัด หนังทุกเรื่องต้องการความเชื่อ ซึ่งข้อดีของการทำหนังสารคดีคือตัวละครของเราคือคนในพื้นที่นั้นจริง ๆ คนดูก็จะเชื่อเราไปประมาณหนึ่งแล้ว แต่ว่าความเชื่ออย่างเดียวไม่พอ เพราะมันจะเป็นความจริงที่ไม่สนุก ดังนั้นเราจึงใส่ความสนุกเข้าไปด้วย การกำกับที่เหลือก็คือการเชื่อจากภาพ จากองค์ประกอบอย่างอื่นที่ปรากฏขึ้นในหนัง อย่างเช่นผลงานล่าสุด ‘ธุดงควัตร’ นอกจากมีพระจริง ๆ มาร่วมแสดงแล้ว เราก็พยายามสื่อสารภาพในสไตล์นิ่ง คือ เลือกมุมถ่ายดีๆ ตั้งกล้องนิ่ง ๆ และอาศัยการเคลื่อนไหวจังหวะ จากตัวละคร จากการบล็อคกิ้ง (blocking) จะไม่มีการเคลื่อนกล้องแบบทิวท์ (Tilt) แพน (Pan) หรือตัดสลับแบบเยอะ ๆ เพราะเราต้องการให้ภาพสื่อถึงการรักษาความสงบทางจิตใจ ในขณะที่มีกิเลสตัณหามายั่ว เหมือนเป็นการสะท้อนการควบคุมจิตใจตนเองผ่านการนำเสนอภาพแบบนิ่ง ๆ นั่นเอง”

สไตล์สารคดีที่ผมทำคือ ผมจะลงพื้นที่จริงและเริ่มถ่ายอะไรที่ชอบก่อน ชอบอะไรก็ปรับกัน ณ ตอนนั้น ค่อย ๆ ปรับก่อเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แล้วมันก็จะชัดขึ้น พอเริ่มเห็นจุดเริ่มต้นแล้วเราก็จะพัฒนาต่อไปได้ ท้ายที่สุดเราก็จะมานั่งดูโครงสร้างกันอีกที เรียกว่า การทำงานแบบด้นสด (improvise) หรือสารคดีในรูปแบบ non-preconception ซึ่งข้อดีคือ มันจะคาดเดาได้ยาก ไม่มีรูปแบบ ตายตัว ถ้าเป็นหนังตลาดหนังตามกระแสมันจะมีสูตรของมัน บางทีคนดูจะเดาได้ สำหรับผมเป็นการทำให้สารคดีหายใจได้ด้วยตัวของมันเอง ราวกับว่าเราไม่ได้แต่งมันขึ้นมา ทว่าเราแค่บันทึกชีวิตที่มีอยู่ของมันมากกว่า ผมมองว่ามันเป็นศิลปะ และพยายามทำให้งานมันมีชีวิต นั่นแหละที่มันยาก”

สำหรับนักศึกษาที่เรียนภาพยนตร์รวมไปถึงคนที่สนใจอยากทำหนังนั้น อาจารย์อุรุพงศ์ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า “ในฐานะที่ผมเป็นทั้งคนทำงานและอาจารย์ ผมพยายามบอกเด็ก ๆ ว่า มันมีประตูหลายบาน ให้คุณเปิดเข้าไป บางครั้งผมไม่อยากสอนให้คุณเปิดบานแรกก่อน ค่อยเปิดบานสอง สาม สี่ตามลำดับ ไม่อยากให้ยึดติดกับกรอบ แบบแผน หรือวิธีการเดิม ๆ อยากให้ลองลืมมันไปก่อน แล้วค้นหาตัวตนของคุณให้เจอ ว่าทางของคุณมันเป็นอย่างไร โดยมองหาจากสิ่งรอบตัว หรือสิ่งที่คุณชอบก็ได้ แล้วเริ่มมันจากตรงนั้น พัฒนาต่อยอดจนท้ายที่สุดมันก็จะสมบูรณ์เอง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เรียน เราต้องเรียนอย่างหนัก เพื่อที่เราจะได้เห็นความเป็นไปได้ของชีวิตในแบบฉบับของเรา ผมอยากให้เขาสนุก ค้นหาตัวตนของเขา มีตัวเขาอยู่ในงานอย่างไม่ฝืนเท่านั้นเอง” อาจารย์อุรุพงศ์กล่าวทิ้งท้าย