V ARE CONNECTED
VARASARN STUDENT COMMUNITY
 
บทสัมภาษณ์
กัลยกร วรกุลลัฏฐานีย์ และ ประไพพิศ มุทิตาเจริญ
17 ก.ค. 2560

สัมผัสมุมมองและประสบการณ์การทำวิจัยรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ต่อน้องๆ นักเรียน และครู-อาจารย์ ในพื้นที่รอบ มธ.ศูนย์รังสิต
ผ่านการเผยแพร่ผลงานบนเวที International Conference on Social Science Management (ICSSM 2014) ณ กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

โดย รศ.กัลยกร วรกุลลัฎฐานีย์ และ อ.ประไพพิศ มุทิตาเจริญ

ในบทสัมภาษณ์พิเศษ “ฉายภาพให้เห็นเมื่อสังคมต้องรู้เท่าทันสื่อ”

ในสังคมปัจจุบันที่อยู่ในยุคของการบริโภคสื่อ ทุกภาคส่วนหลายฝ่ายให้ความสำคัญและเริ่มปลูกฝังให้ทุกคนได้ตระหนักและเข้าใจในเนื้อหาของสื่อได้อย่างไม่ถูกครอบงำ JCTeam@yrservice ได้รับเกียรติสัมภาษณ์จาก รศ.กัลยกร วรกุลลัฎฐานีย์ และ อ.ประไพพิศ มุทิตาเจริญ หลังจากร่วมนำเสนองานวิจัยในเวที International Conference on Social Science Management (ICSSM 2014) ณ กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นและที่มาของงานวิจัย

– บรรยากาศการเผยแพร่งานวิจัยครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ ?
“คืองานที่ไปครั้งนี้จัดภายใต้ชื่อว่า International Conference on Social Science Management (ICSSM 2014) จัดที่กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เป็นงานที่ประกอบด้วยหลายๆ ศาสตร์ทางสังคมศาสตร์และการบริหารการจัดการและสายวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านมาพี่ไม่เคยเผยแพร่ผลงานในเวทีต่างประเทศจริงๆ จังๆ เลยสนใจและเลือกใช้เวทีนี้ในการเผยแพร่ผลงาน ภาพรวมและบรรยากาศการนำเสนองานวิจัยทำให้เราได้เห็นหลายๆ งานวิจัยของต่างประเทศ ทั้งในด้านการตลาด การศึกษา วัฒนธรรม การบริหาร และการสื่อสาร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนได้ทำความรู้จักนักวิชาการจากประเทศต่างๆ”

“จริงๆ แล้วงานวิจัยนี้พี่เริ่มจากการมองเห็นความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งในเรื่องการทะเลาะตบตี การใช้ Social Media ในการล่อลวงเด็กและเยาวชน เป็นต้นค่ะ พี่พบว่าทุกวันนี้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงสื่อได้โดยง่ายและรวดเร็ว เราจึงควรจะมีวิธีการอย่างไรที่ทำให้เด็กและเยาวชนได้รู้ถึงการเท่าทันสื่อที่เผยแพร่ออกมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องเริ่มย้อนไปที่ต้นน้ำของเด็ก คือกลุ่มครูผู้สอน ซึ่งเป็นที่มาของงานวิจัยเรื่อง “ความตระหนักและความรู้ของครูผู้สอนเรื่องเท่าทันสื่อของเยาวชนในจังหวัดปทุมธานี”

ครูผู้สอน คือแบบอย่างสำคัญของการเท่าทันสื่อ

– ทำไมถึงเลือกทำงานวิจัยเรื่องความตระหนักและความรู้ของผู้สอนเรื่องเท่าทันสื่อของเยาวชนในจังหวัดปทุมธานี ครับ?
“ พี่อยากจะบอกว่าจุดเริ่มต้นอีกเรื่องของงานวิจัยคือ เกิดจากปณิธานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีนโยบายบริการชุมชนรอบข้างของ มธ.ศูนย์รังสิต จึงเป็นที่มาของงานวิจัยเท่าทันสื่อซึ่งพี่เลือกใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In – Depth Interview) จากครูผู้สอนใน 10 โรงเรียนที่อยู่ในชุมชนย่านรังสิต ว่ามีความตระหนักและเท่าทันสื่อมากน้อยแค่ไหน พี่พบว่าครูเป็นผู้นำทางความคิดของเด็ก ประเด็นที่พี่อยากรู้ คือพี่อยากรู้ว่าครูผู้สอนมีความตระหนักและมีความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อของเยาวชนอย่างไร มีการจัดการเรียนการสอนด้านรู้เท่าทันสื่อมากน้อยแค่ไหน”

ร.ร.ไทยรัฐวิทยา 69 กับต้นแบบการเรียนการสอนเท่าทันสื่อ

– การลงพื้นที่วิจัยครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ?
“จากการทำวิจัยครั้งนี้พี่พบว่าจากทั้ง 10 โรงเรียน มีเพียง โรงเรียนเดียวที่พัฒนาและนำความรู้เรื่องสื่อเข้ามาใช้จนประสบความสำเร็จเป็นวิชาสื่อมวลชนศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาเรื่องเท่าทันสื่อ (Media Literacy) คือ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 69 อำเภอคลองหลวง ซึ่งคิดว่าอาจเป็นเพราะความพร้อมของโรงเรียนที่มีมูลนิธิไทยรัฐเป็นผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นองค์กรด้านสื่อยักษ์ใหญ่ของประเทศ จึงสามารถออกแบบเนื้อหาการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนศึกษา และนอกจากจะสอนเด็กนักเรียนแล้ว ยังจัดอบรมครูในประเด็นการผลิตสื่อ การออกแบบสิ่งพิมพ์ การใช้โปรแกรมที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี”

“ข้อสังเกตบางอย่างที่พี่พบในการศึกษาครั้งนี้ คือ ร.ร.ไทยรัฐวิทยา มีจุดกำเนิดที่มาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐซึ่งเป็นองค์กรสื่อภาคเอกชน โดยส่วนตัวพี่คิดว่าเป็นเรื่องดีที่ทางหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเข้ามาช่วยในเรื่องทักษะการใช้สื่อ แก่ครู และนักเรียน แต่อย่างไรก็ตามในขณะเดียวกันการศึกษาครั้งนี้ไม่ได้มีการศึกษาถึงตัวเนื้อหาของหลักสูตรลงไปในรายละเอียดว่ามีประเด็นใดบ้างที่ให้ความสำคัญ หรือมีหลักสูตรมีที่ครอบคลุมในเรื่องของทักษะการเท่าทันสื่อมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจจะเป็นหัวข้อการวิจัยต่อไปได้ในอนาคต”

ทัศนคติ – ทักษะ ของครูยังเป็นปัญหาต่อการเรียนการสอนเท่าทันสื่อ
“ยังมีอีกหลายเรื่องที่พี่พบว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจและสำคัญมาก คือครูผู้สอนเองโดยเฉพาะครูที่มีอายุงานเยอะๆ ทักษะการใช้สื่อของครูเอง ยังไม่หลากหลาย โดยเฉพาะการใช้ Social Media มีบางกรณีที่ครูไม่รู้จะสอนเด็กอย่างไรในเรื่องการคิดวิเคราะห์ เพราะพื้นฐานเดิมของครูผู้สอนถูกสอนให้ท่องจำกันมา ดังนั้นครูที่ไม่สามารถตามทันเทคโนโลยี หรือการใช้สื่อ และรวมไปถึงนโยบายของแต่ละโรงเรียนในด้านรู้เท่าทันสื่อที่ไม่ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร การจัดกิจกรรมในเรื่องรู้เท่าทันสื่อจึงเกิดขึ้นได้ยากมาก”
“ที่สำคัญพี่มองว่าครู คือบุคคลที่มีอิทธิพลอย่างมากสำหรับนักเรียน เป็นตัวแปรสำคัญที่จะต้องสอนเด็กนักเรียนให้มีความรู้หรือคิดวิเคราะห์เป็นที่สำคัญเด็กในรอบเขตจังหวัดปทุมธานี เป็นที่ทราบกันดีว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ทำงานโรงงาน เด็กๆ เลยต้องอยู่คนเดียวกับพวกโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ดังนั้นถ้าครูไม่มีทักษะเรื่องนี้แล้วก็ยากที่จะให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ เพราะในขณะเดียวกันเองครูครูก็ยังไม่สามารถครูไม่สามารถถ่ายทอดได้”

รู้เท่าทันสื่อในมุมมองฝรั่ง เรื่องเก่าแต่เล่าใหม่สำหรับคนไทย

– แล้วในมุมมองเรื่องรู้เท่าทันสื่อของต่างชาติ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกเป็นอย่างไรบ้างครับ ?
“โอ้…(เสียงสูง) ต่างประเทศให้ความสำคัญอย่างมากเลยคะในเรื่อง Media Literacy หรือรู้เท่าทันสื่อ ในต่างประเทศส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้เสริมทักษะการคิดวิเคราะห์อยู่แล้ว เช่น การอยู่กับธรรมชาติ ส่งเสริมเกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันและการตั้งคำถามต่อกัน การรู้เท่าทันสื่อมันจึงเป็นเรื่องทักษะการใช้ชีวิต”

“พี่คิดว่างานวิจัยหลายๆ ชิ้นในประเทศ ทักษะการเท่าทันสื่อก็คือเรื่องของการใช้ทักษะชีวิต ถ้าคุณเป็นคนช่างสังเกต คุณเป็นคนตั้งคำถาม คุณเป็นคนไม่เชื่ออะไรง่ายๆ คุณเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีวิธีคิดที่เป็นตรรกะ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราดูสื่อเข้าใจมากขึ้น และไม่เชื่อตามหรือตื่นต่อกระแสข่าวต่างๆ ทำให้เราอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีเหตุมีเหตุมีผลที่ไม่ใช้อารมณ์ ซึ่งคนในสังคมตะวันตกให้ความสำคัญมากๆ”
“ส่วนตัวพี่คิดว่าสังคมไทยขาดการเชื่อมโยงหลายๆ อย่างทั้งการเรียนการสอน และวัฒนธรรม โดยเฉพาะการเรียนการสอนแบบท่องจำ จึงทำให้ขาดเรื่องความเข้าใจและทักษะการใช้ชีวิต หากทักษะชีวิตดีเรื่องรู้เท่าทันสื่อก็จะเป็นเรื่องที่ตามมาเอง ซึ่งเราต้องหัดตั้งคำถาม มีการถกเถียง มีหลักคิด ใช้อารมณ์น้อยๆ ซึ่งสังคมไทยเรายังไม่ใช่สังคมแห่งการอ่าน เราจึงเชื่อคน ยึดคนเป็นที่ตั้งซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการใช้ทักษะชีวิต”

แม้จะเป็นมุมมองของครูผู้สอนแต่หากต้นน้ำทางความคิดเพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนยังไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงก็น่าเป็นห่วงต่อทักษะการใช้ชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย
และหากต่อไปนี้เป็นมุมมองของเด็กบ้างต่อการรู้เท่ารู้ทันสื่อ อ.อ๋อ รศ.กัลยากร จะมาบอกเล่าถึงงานวิจัย “การรู้เท่าทันสื่อของนักเรียนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี” ซึ่งได้เผยแพร่ที่เวทีวิจัยInternational Conference on Social Science Management (ICSSM 2014) เช่นกัน

เพราะงานโฆษณาส่วนใหญ่ไม่ตรงไปตรงมาต่อตัวเด็ก-เยาวชน

– ทำไมอาจารย์ถึงสนใจที่จะทำในเรื่องเท่าทันสื่อครับ ?
“จริงๆ แล้วพี่เองสนใจในเรื่องการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับเด็ก จนต่อยอดมาเป็นเรื่องเท่าทันสื่อ จริงๆ แล้วส่วนตัวอยู่ในแวดวงด้านโฆษณาและการสื่อสารการตลาด ประกอบกับประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาสนใจและเกี่ยวข้องกับเด็ก งานวิจัยหรืองานวิชาการหลายๆ ชิ้นจึงเกี่ยวข้องกับเรื่องโฆษณากับเด็ก, การเปิดรับโฆษณาของเด็ก จนปัจจุบันงานที่ทำอยู่ก็เป็นงานด้านวิจัยโฆษณา ซึ่งพี่พบว่าบางทีการสื่อสารอาจไม่ตรงไปตรงมาต่อตัวเด็กเอง และเป็นที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้ในชีวิตประจำวันของเด็กๆ เองต่างต้องข้องเกี่ยวกับโฆษณาทั้งที่ปรากฏในสื่อโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต”
“จุดเริ่มอีกต้นเรื่องหนึ่งคือ รศ.กิติมา สุรสนธิ ผู้อำนวยการโครงการบริหารสังคมของคณะวารสารฯ ให้โจทย์ไว้ว่าคณะวารสารฯ ต้องบริการและรับใช้สังคมรอบข้างๆ มหาวิทยาลัย และพี่เองก็สนใจในเรื่องเท่าทันสื่อ ดังนั้นเพื่อให้ได้คำตอบที่แท้จริงจึงทำวิจัยในประเด็น “การรู้เท่าทันสื่อของนักเรียนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี” ก่อนนำมาต่อยอดและนำมาทำร่วมกับในรายวิชาที่พี่สอน คือรายวิชา JC 460 การจัดการสื่อสารเพื่อกิจกรรมพิเศษ ซึ่งรายวิชาหนึ่งของสาขาวิชาโฆษณาคะ”

เด็ก – เยาวชน ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ชีวิตติดสื่อ พร้อมไปด้วย Wi-Fi และ Smartphone

– งานวิจัยที่ทำมีขั้นตอนวิธีการอย่างไรครับ?
“ในส่วนของงานวิจัยที่พี่ทำเกี่ยวข้องกับนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาตอนปลาย – มัธยมศึกษาตอนต้น ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี โดยใช้วิธีสัมภาษณ์กลุ่ม (Focus Group) ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเด็กส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่นำมาเป็นกลุ่มตัวอย่างเป็นลูกของผู้ใช้แรงงานในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี รายได้ก็ไม่ได้มากเท่าไร แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กส่วนใหญ่ต่างมีสมาร์ทโฟนใช้ที่บ้านมีคอมพิวเตอร์ มี Wi – Fi ใช้ ซึ่งไม่ได้ต่างจากกลุ่มเด็กที่มีฐานะปานกลาง จนถึงพื้นฐานครอบครัวมีรายได้มาก ดังนั้นพี่คิดว่าเด็กในกลุ่มนี้อาจจะมีความเสี่ยง เนื่องจากพ่อ-แม่ ไม่มีเวลา และต้องทำงาน ชีวิตพวกเขาเลยต้องอยู่กับสื่อเป็นส่วนใหญ่ โดยงานวิจัยครั้งนี้ได้นำโฆษณาที่มีการใช้ดาราที่ชื่นชอบ หรือโฆษณาที่เน้นการส่งเสริมการขาย เช่น ความงาม เข้ามาทดลอง”
เด็ก – เยาวชน ยังขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์
“ผลการศึกษาวิจัยของพี่พบ ว่าเด็กส่วนใหญ่มีความเข้าใจในประเด็นเนื้อหาโฆษณามีวิธีการโฆษณาอย่างไร ? ใช้โปรแกรมอย่างไร เช่น การรีทัช การตัดต่อ จึงสรุปได้ว่าเด็กส่วนใหญ่มีความเท่าทันสื่อ รู้หมดทุกอย่าง รวมไปถึงเข้าใจวิธีการในการโฆษณา หรือที่ภาษานักโฆษณาเรียกว่า Functional Literacy ซึ่งมันเป็นเพียงในแง่มุมการใช้งาน แต่ที่สำคัญที่สุด คือเรื่องวุฒิภาวะทางอารมณ์ยังขาดอยู่ มันเลยทำให้เกิดความอยากมี อยากได้ ตลอดจนขาดการยับยั้งชั่งใจ”

กฏระเบียบสำหรับการโฆษณาเมืองไทยต้องชัดเจน โดยเฉพาะเรื่อง เด็ก -เยาวชน

– อาจารย์มองแวดวงโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในบ้านเราอย่างไรครับ ?
“พี่มองว่าในปัจจุบันแวดวงโฆษณาบ้านเรามักใช้เด็กเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้องานโฆษณาชิ้นนั้นๆ โดยตรง เช่น โฆษณายาที่บางที่อาจมีฉากคุณพ่อ – คุณแม่ ไปหยิบยา โดยไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับเด็ก ซึ่งเมื่อเด็กดูอาจไม่รู้ว่ายานั้นอันตรายหรือไม่เพียงใด”

– มีโฆษณาอะไรบ้างครับที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็ก – เยาวชน แล้วเราควรมีมาตรการควบคุมดูแลอย่างไรครับ ?
“ที่นักวิชาการห่วงและเป็นกังวลมากในขณะนี้คือการโฆษณาสินค้าประเภทขนม หรือเครื่องดื่มสำหรับเด็ก เพราะปัจจุบันอย่างที่ทราบกันเด็กๆ สามารถเข้าถึงหรือซื้อหาได้โดยง่าย โดยไม่ได้คำนึงคุณค่าทางโภชนาการซึ่งตรงจุดนี้เป็นอันตรายอย่างมาก ส่วนคำถามที่ว่ากฎเกณฑ์หรือการควบคุมโฆษณาสำหรับประเทศไทยนั้น พี่ขอตอบว่าขณะนี้เริ่มมีบ้างแล้วแต่ยังไม่เข้มแข็งเท่ากลุ่มประเทศแคนาดา หรือออสเตรเลีย ที่มีกฎเกณฑ์เข้มงวด เช่น การห้ามคนดังหรือดาราที่เด็กชื่นชอบหรือรู้จักเข้ามาแฝงในโฆษณาสินค้านั้น แม้แต่ตัวการ์ตูนที่เด็กๆ รู้จักก็ไม่สามารถปรากฏได้ในโฆษณา”

สอง มุมมองจากงานวิจัยเรื่องเท่าทันสื่อ นับเป็นความคิดที่น่าจับตามองสะท้อนถึงการรับรู้และความเข้าใจในประเด็นการเปิดรับและตั้งคำถามของเด็กและเยาวชนว่าสื่อนั้นต้องการสื่อสารอะไรอย่างรอบด้าน ยิ่งหากมีทักษะชีวิต มองอย่างคิดวิเคราะห์ นอกจากจะทำให้เพลิดเพลินและสนุกไปกับสื่อแล้วยังสามารถป้องกันตัวเองจากผลกระทบในด้านลบของสื่อได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

JCTeam@yrservice/june2014