V ARE CONNECTED
VARASARN STUDENT COMMUNITY
 
บทสัมภาษณ์
กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร
4 ก.ค. 2560

เมื่อภาพถ่ายไม่ได้เป็นเพียงการบันทึกเรื่องราว แต่ยังเชื่อมโยงสังคมชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น…ฟังและอ่านความคิด อ.สอง กานตชาติ ต่อสภาพสังคมที่ทุนกำลังห้อมล้อมชุมชนในภารกิจอบรมการถ่ายภาพ “จากรากสู่ผล” ร.ร.เทศบาลเมืองท่าโขลง

จากรากสู่ผล เมื่อภาพเล่าเรื่องชีวิตเชื่อมโยงชุมชน

“คือผมคิดว่าสถานการณ์โดยรอบของชุมชนแถบรังสิตกำลังเปลี่ยนไป คนที่เป็นแหล่งความรู้ภายในชุมชนก็ไม่ได้มีการเชื่อมโยงเหมือนแต่ก่อน ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเสียดายมาก ยกตัวอย่างที่ประเทศอังกฤษถึงกับมีการรวบรวมภาพถ่าย สามารถสืบค้นรูป แล้วมองย้อนกลับไปในอดีตได้ว่าสถานที่ตรงนี้ อาคารตรงนี้เป็นอย่าง ซึ่งตรงข้ามกับบ้านเราที่ไม่มีการจัดเก็บ” เสียงของอาจารย์หนุ่มคนหนึ่งแห่งคณะวารสารฯ บอกกับ JCTeam@yrservice บนรถตู้หลังเสร็จสิ้นงานอบรมถ่ายภาพแก่นักเรียนโรงเรียนเทศบาลเมืองท่าโขลง ย่านคลองสอง จ.ปทุมธานี
หากประติดประต่อเรื่องราวการอบรมถ่ายภาพก็เดาได้ไม่ยากว่าอาจารย์หนุ่มคนนี้คือใคร คำตอบ คืออาจารย์กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร หรืออาจารย์สอง แห่งสาขาภาพยนตร์และภาพถ่ายสัมภาษณ์ครั้งนี้จึงได้เห็นมุมมองที่อาจารย์สอนถ่ายภาพกำลังห่วงใยสังคมและประสบการณ์ของการทำหน้าที่อาชีพช่างภาพในหลายมุมมอง

“ที่มาที่ไปของโครงการจากรากสู่ผล สารคดีภาพถ่ายเชื่อมสัมพันธ์ชุมชน เริ่มจากตอนนี้ในพื้นที่โดยรอบ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในชุมชนทุกที่ บุคคลที่เป็นแหล่งความรู้ในชุมชนตอนนี้ไม่มีการเชื่อมโยงเหมือนก่อน เดี๋ยวนี้เริ่มห่างเหินกันออกไป อาจเป็นเพราะต้องย้ายบ้านบ้างหรือมีสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเสียดายมาก ก็เลยคิดโครงการที่สามารถใช้สื่อมาบันทึกเก็บเป็น Hard Copy ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์มากในอนาคต สามารถเก็บเป็นหลักฐาน เป็นบันทึกเหมือนที่ต่างประเทศมีรูปถ่ายที่มีพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ที่เมืองเบอร์นิ่งแฮมประเทศอังกฤษ ตอนที่ผมไปศึกษาต่อ ถ้าบอกว่าย่านนี้ ในปีนี้ เขาสามารถสืบค้นรูป สามารถหาบุคคลอ้างอิงย้อนกลับไปได้”
อ.สอง ยังบอกอีกว่า “ที่เลือกทำกิจกรรมนี้กับเด็กเพราะช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนตอนนี้เยอะมาก หากคนรุ่นใหม่ถ้าไม่เก็บอะไรไว้จากคนรุ่นเก่ามันก็ไม่เหลือเหมือนกันหากเด็กไม่ออกไปพบปะสังคมในชุมชน ลงพื้นที่ มันก็ไม่มีประโยชน์ เราเลยผลักดันให้เด็กควรเก็บข้อมูล และทำบันทึก เพื่อที่จะได้เรียนรู้เรื่องราวในชุมชน รู้จักคน และรู้จักทักษะชีวิตด้วย ซึ่งอย่างน้อยเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กเอง เพราะเมื่อเติบโตไปตัวเด็กเองยังจะต้องเจอคนอีกเยอะที่ไม่รู้จักในสังคม”

หลังจากทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนเทศบาลเมืองท่าโขลง เด็กๆ ที่นี่เป็นอย่างไรบ้างครับ ?
“ผมคิดว่าเราโชคดีมากเนื่องจากโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมเด็กมีความตื่นตัวมาก ที่สำคัญมีการจัดทำกิจกรรมอยู่แล้วให้เด็กออกนอกพื้นที่โดยเฉพาะวิชาลูกเสือ แต่มีจุดอ่อน คือ 1. เค้าไม่รู้จักชุมชนเค้าจริงๆ 2.ยังอ่อนเรื่องการสื่อสาร โดยเฉพาะการพุดคุยกับคนในชุมชน ยังไม่กล้าพูดคุยกับผู้ใหญ่ เช่น ในบางกลุ่มที่ลงพื้นที่สัมภาษณ์คุณยาย แต่เด็กๆ กลับไม่กล้าซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก”

ห่วงความสัมพันธ์ในชุมชนนับวันจะน้อยลง สวนทางกับความเจริญของเมือง
อ.สอง ยังเล่าย้อนไปถึงพื้นเพเดิม และประสบการณ์ในต่างประเทศอีกว่า “พื้นทางครอบครัวดั้งเดิมของผมเป็นคนบางขัน จังหวัดปทุมธานีครับ เรายังพูดคุยกับคุณยายเล่าเรื่องใครทำอะไรบ้าง เพื่อนบ้านเป็นอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้ตอนนี้หายไปและไม่มีการสานต่อในเด็กรุ่นใหม่อย่างเด็กที่ไปทำกิจกรรมมา”
“ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น โครงสร้างสังคมทุกบ้านรู้จักกันหมด โดยเฉพาะชุมชนช่าง ชุมชนชาวประมง ก็มีการก่อตั้งสมาคมช่วยเหลือซึ่งกันแลกเปลี่ยนความรู้กัน แต่สำหรับเมืองไทย หากมีก็ยังไม่ชัดยิ่งชุมชนตามปริมณฑลหรือชุมชนใกล้ตัวเมืองยิ่งน้อยลงๆ ดูง่ายๆ คือชุมชนรอบวัด ที่น่าสนใจคือลักษณะเช่นนี้ไม่เกิดในชุมชนเมืองบ้านเรา แต่ไปเกิดในชุมชนเมืองในต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศอังกฤษ แต่ของเมืองไทยลักษณะการเชื่อมโยงของชุมชนกลับไปเกิดในพื้นที่ที่เค้าต้องร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอด

เวิ้งนาครเกษม กรณีศึกษาการล่มสลายของชุมชนต่อกลุ่มทุน
– อ.เคยได้ยินกรณีเวิ้งนาครเกษมไหมครับ ? “อ๋อ (เสียงสูง) กรณีของเวิ้งฯ นี้ผมอยู่กับพื้นที่นั่นมานานแล้วครับ เป็นพื้นที่ที่กำลังเก็บข้อมูลและจะเข้าไปอาทิตย์หน้าเพราะว่าบ้านเพื่อนผมกำลังถูกรื้อเป็นเฟสแรก ผมตั้งใจจะทำเป็นภาพยนตร์สารคดีที่เน้นเรื่องของเครือข่ายชุมชน ซึ่งน่าเสียดายมากสำหรับกรณีเวิ้งฯ โหดมาก (เสียงสูง)… เพราะพวกเขารู้จักกันมานานกว่า 50 ปี ถือเป็นตัวอย่างของชุมชนเมืองที่พังทลายเพราะหยุดกลุ่มทุนไม่อยู่ซึ่งเห็นชัดมากในกรณีนี้”

“สิ่งที่น่ากลัวและเสียดายคือการเชื่อมโยงในชุมชนจะหายไป ซึ่งเท่าที่ทราบกำลังมีการรวบรวมเป็นหนังสือรุ่นเพื่อบอกว่าใครจะย้ายไปอยู่ที่ไหน แต่ก็ทำได้แค่นั้นเพราะจะเป็นกระดาษที่ไม่สามารถเชื่อมโยงได้จริงๆ แต่เท่าที่ทราบยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะจัดกิจกรรมอย่างไร โดยภายในเดือนมีนาคม 2558 ก็จะเป็นเดือนสุดท้ายที่คนในชุมชนจะต้องออก”

บทสรุป “จากรากสู่ผล” ความน่าเสียดายที่ นศ.ยังไม่รู้จักชุมชนรอบข้างเท่าที่ควร
“ผมอยากให้เด็กได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องการใช้กล้องถ่ายรูป แค่สามารถเล่าเรื่องบางประการได้แค่นี้ก็ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ที่น่าประหลาดใจคือเด็กๆ เองสามารถเรียนรู้ได้เร็ว ยอมใช้เวลาที่นอกเหนือจากการเรียน คือ เราจัดกิจกรรมวันจันทร์ พุธ ศุกร์ วันจันทร์หาข้อมูลไม่พอ วันอังคารก็ยอมลงพื้นที่เพื่อคุยกับคนในชุมชนจริงๆ ซึ่งประหลาดใจมาก และเด็กเองก็สามารถเอาข้อมูลมาได้แม้แต่ในบางกลุ่มที่ไปในพื้นที่ไกลๆ”
– ผลงานที่ได้มาในครั้งนี้เราจะทำอะไรต่อไปครับ? “ต่อจากนี้ก็จะรวบรวมข้อมูลเป็นโปสเตอร์ของแต่ละกลุ่มและจัดเผยแพร่ที่โรงเรียนต่อไปครับ เพื่อเก็บบันทึกเป็นหลักฐานของโรงเรียน และก็ผมคิดว่าจะนำผลงานมาจัดแสดงที่คณะวารสารฯ ด้วยครับ ซึ่งจริงๆ แล้วผมคิดว่านักศึกษาคณะวารสารฯเราอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้เคียงชุมชน แต่ก็ยังไม่รู้เรื่องอะไรในพื้นที่นี้เหมือนกัน ทั้งๆ ที่มีประเด็นในหลายเรื่องที่น่าสนใจ ในฐานะนักสื่อสารมวลชน ผมมองว่าเราควรลงพื้นที่มาสำรวจประเด็น ดูปัญหาเพื่อบอกสังคมและเล่าออกไป ไม่ใช่แค่ทำงานเฉพาะความเชื่อ ความรู้สึก หรือพูดง่ายๆ คือเป็นอัตตาของตัวเอง พูดง่ายๆ คือคุณเป็นกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นสื่อสารมวลชนคุณควรจะทำอะไรกับมวลชนมากกว่าบุคคล”

– ก้าวต่อไปของโครงการนี้จะเป็นไปในทิศทางไหนครับ ? “คือ โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่อง 5 ปีนะครับ ปีที่ 1- 2 ต้องการให้เป็นการศึกษาเรื่องการถ่ายภาพ เพื่อศึกษาดูว่าเด็กมีความพร้อมไหมพื้นที่ที่เด็กอยู่เป็นอย่างไร? ซึ่งผลตอบรับก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในปีที่ 3 ผมมองว่าอยากจะทำเป็นสารคดีภาพเคลื่อนไหว ซึ่งจะได้ในเรื่องมิติของเรื่องราว ที่สำคัญบันทึกเสียงได้ และภาพคลื่อนไหวมีความสมบูรณ์กว่าภาพนิ่ง ในปีนี้เราจะพยายามผลักดันให้ทำงานร่วมกับคนรุ่นก่อนๆ มากขึ้นด้วยนะครับ ส่วนปีที่ 4 อาจร่วมมือกับองค์กรสื่อ อย่างเช่น ไทยพีบีเอสที่มีในส่วนของรายการข่าวภาคพลเมือง โดยจะให้มาอบรม และอยากจะทำในแง่ของชุมชนต้องการอุปกรณ์อะไรในการผลิตเนื้อหาได้เองบ้าง ในปีที่ 5 ปีสุดท้าย ผมอยากจะทำในลักษณะชุมชนหลายๆ ชุมชนรวมกลุ่มกันไม่เฉพาะที่เทศบาลเมืองท่าโขลงอย่างเดียว แต่อยากให้ได้เรียนรู้ร่วมกันรอบๆ มหาวิทยาลัยเพื่อที่จะดูความหลากหลายที่เป็นประเด็นคล้ายคลึงกัน เพราะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเมือง”

– อยากฝากอะไรบ้างไหมครับถึงการเป็นช่างภาพที่ดี ? “ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับงานถ่ายภาพที่เราทำครับย่อมแตกต่างกันในเนื้องาน ไม่ว่าคุณจะเป็นช่างภาพสารคดีหรือแฟชั่น หรืองานถ่ายภาพประเภทอื่นๆ สิ่งที่ต้องมีเหมือนกัน คือความกระตือรือร้น ความช่างสังเกต ความอยากรู้อยากเห็น และความอยากที่จะเรียนรู้ผู้คน ที่สำคัญต้องกล้าเปิดตัวเอง ต้องไม่มีอคติ ไม่มีอัตตาตัวเองจนเกินไป พูดง่ายๆ คือเรามีความเชื่อของตัวเองได้แต่อย่าเอาความเชื่อของเราไปตัดสินคนอื่น เพราะนั้นคือคุณจะไม่เข้าใจอะไรเกี่ยวกับพวกเขาเลย”อ.สอง กล่าวทิ้งทายก่อนที่รถตู้จะพาเราผ่านชุมชนโดยรอบ มธ.ศูนย์รังสิต ที่กำลังถูกห้อมล้อมด้วยความเจริญของย่านอุตสาหกรรมกับโจทย์ใหม่ที่ยังต้องขบคิดเมื่อนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ กลับหลงลืมชุมชนรอบข้างไปอย่างน่าเสียดาย

JCTeam@yrservice /สัมภาษณ์