V ARE CONNECTED
VARASARN STUDENT COMMUNITY
 
บทสัมภาษณ์
ปัทมา สุวรรณภักดี
11 ก.ค. 2560

การผลิตภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่ง นอกจากความลงตัวในเรื่องการนำเสนอและความคิดสร้างสรรค์แล้ว พฤติกรรมการรับชมของคนดูนับว่ามีส่วนสำคัญที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องรายได้ และสาระความรู้ที่บางครั้ง หลายๆ คนมองข้ามไป…
พบกับสัมภาษณ์พิเศษ รศ.ปัทมา สุวรรณภักดี อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ในงานวิจัยที่จะตอบโจทย์ ทั้งผู้สร้างภาพยนตร์สารคดี และคนที่(อยาก)ดูภาพยนตร์สารคดี

“พฤติกรรมประชาชนมีผลต่อการรับชมภาพยนตร์สารคดีไทย”

รศ.ปัทมา สุวรรณภักดี อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เปิดเผยถึงงานวิจัยเรื่อง “พฤติกรรมการเปิดรับสื่อและความคาดหวังของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครที่มีต่อภาพยนตร์สารคดีไทย” ว่า ในบางประเทศมีตัวอย่างการทำภาพยนตร์สารคดีที่สามารถลดความขัดแย้งในสังคม และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ได้

ตัวอย่าง เช่น เรื่อง Drifters ของประเทศอังกฤษ ที่เป็นเรื่องราวของยุคที่มีการใช้เครื่องจักรกลทำให้คนกลัวตกงาน ภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นการนำเสนอ ว่า ถึงแม้มีการใช้เครื่องจักรกลเพื่อให้คนยอมรับในกลไกลที่จะมาช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่คนยังสำคัญที่สุด อีกเรื่องคือ Super Size นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอาหาร fast food ที่ส่งผลกระทบต่อคนทำให้เป็นโรคต่างๆ ผู้สร้างเลยพิสูจน์ตัวเองด้วยการทานแฮมเบอร์เกอร์ 30 วัน วันละ 3 มื้อ ปรากฏว่าโรคต่างๆ รุมเร้า เพราะฉะนั้นภาพยนตร์สารคดีแนวนี้จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องโภชนาการ พฤติกรรมสุขภาพและอนามัย” รศ.ปัทมา กล่าวถึงบทบาทภาพยนตร์สารคดีในต่างประเทศ

รศ.ปัทมา กล่าวถึงการทำวิจัยเรื่อง “พฤติกรรมการเปิดรับสื่อและความคาดหวังของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครที่มีต่อภาพยนตร์ไทย” ในครั้งนี้มีความจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ “มุ่งนำเสนอในเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่จำนวนภาพยนตร์สารคดีเมื่อเทียบกับภาพยนตร์บันเทิงมีจำนวนที่ต่างกัน อย่างปีที่แล้ว พ.ศ.2556 มีภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายจำนวน 44 เรื่อง แต่มีภาพยนตร์สารคดีมีอยู่ 1 – 2 เรื่อง ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากเลยเป็นที่มาของการทำวิจัยในครั้งนี้ว่าเราต้องการทราบว่าผู้ชมที่ต้องการชมภาพยนตร์สารคดีมีเนื้อหาประเภทใด และมีวิธีการนำเสนออย่างไร จุดประสงค์หลักในการสร้างต้องการให้ผู้สร้างสร้างออกมาแล้วเกิดผลตอบรับอย่างไร”

รศ.ปัทมา กล่าวถึงเนื้อหาการทำวิจัยต่อไปอีกว่า “เมื่อแยกตามอายุตั้งแต่ 15 – 25 ปี จะเน้นเนื้อหาที่ต้องการดูเกี่ยวกับการเรียน ชีวิตในวัยเรียน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องใกล้ตัว ส่วนคนที่อายุ 26 ปีขึ้นไป ก็จะสนใจในเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยอยากจะรู้ว่ามีผลกระทบอะไรเกี่ยวกับตัวเอง ส่วนในช่วงอายุที่มากๆ ขึ้นไปก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม หรือเรื่องความเชื่อค่านิยม เน้นในเรื่องนามธรรมมากขึ้น ถ้าพิจารณาตามอาชีพของผู้ตอบแบบสอบถาม กลุ่มอาชีพข้าราชการ/พนักงานที่มีความมั่นคงในการทำงาน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่อยากที่จะชมภาพยนตร์เกี่ยวกับประเพณี ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม แต่ถ้าเป็นพนักงานเอกชนจะเน้นไปที่สุขภาพ สิ่งแวดล้อม หากพิจารณาในเรื่องรายได้หากเกิน 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปจะมีความสนใจในเรื่องเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม

ส่วนผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่านั้นจะสนใจในเรื่องใกล้ๆ ตัวของเขาเอง แม้ว่าในเรื่องเนื้อหาอาจไม่ได้เป็นคำตอบแบบเดียวสำหรับการสร้างภาพยนตร์สารคดี ถ้าเป็นเรื่องเทคนิคการนำเสนอผู้ตอบแบบสอบถามตอบเป็นไปในลักษณะการแอบถ่ายหรือสังเกตการณ์ก็ได้อาจมีเสียงพูดด้วยก็ได้ หรืออีกรูปแบบคือการไม่มีเสียงพูดเลยอาจเป็นเสียงพูดที่เกิดขึ้นตามจริง อาจเป็นบทกวี หรือเพลง หรือท่าทางสีหน้า อีกรูปแบบคือการสัมภาษณ์อย่างเดียว เช่น เรื่อง “ประชาธิปไทย” หรือรูปแบบการฝังตัวและตามติดว่าชีวิตเขาทำอะไรบ้างอาจใช้เวลาเป็นหลายๆ ปี เช่น เรื่อง Boyhood ส่วนใหญ่คนที่ตอบแบบสอบถามที่มีวุฒิการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรีชอบให้มีการนำเสนอในลักษณะที่หลากหลาย คือไม่จำเป็นต้องมีแบบเดียวในเรื่องนั้นอาจมีการแอบถ่ายบ้าง สัมภาษณ์บ้างให้มีความเหมาะสม”

นอกจากนี้การทำวิจัยครั้งนี้ยังได้สอบถามการรับชมภาพยนตร์สารคดีผู้รับชมนิยมรับชมจากที่ไหนผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ตอบ ว่า นิยมชมจากโรงภาพยนตร์ ซึ่งโรงภาพยนตร์สมัยนี้สะดวกสบาย มีระบบเสียงหรือมีระบบอากาศ โปรโมชั่นซึ่งทำให้ราคาค่าเข้าชมพอรับได้ นอกจากนี้มีการเสนอความเห็นว่าควรเพิ่มจำนวนโรงภาพยนตร์เพราะว่าโรงภาพยนตร์ที่ฉายภาพยนตร์สารคดีส่วนมากเป็นโรงภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ในกระแสหลัก เช่น House, Lido อยากให้เพิ่มจำนวนโรง หรือรอบฉาย ผู้ตอบแบบสอบถามบางคนตอบว่าบางเรื่องมีลักษณะที่เข้าใจยากน่าจะเสนอย่อยให้ง่ายขึ้น เช่น การใช้แอนิเมชั่น หรือการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก ส่วนในเรื่องของวัย เพศ หรือการศึกษา รายได้ อาชีพ ผู้ตอบแบบสอบถามตอบถึงประโยชน์ที่อยากได้จากการรับชมภาพยนตร์สารคดี คือการนำมาปรับใช้ได้กับตัวเองสามารถที่จะมาต่อยอดสังคมหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่น ในเรื่องพลังงานที่กำลังลดลง ควรจะมีคำตอบจากผู้สร้างภาพยนตร์สารคดีที่ทำให้ผู้ชมตัดสินได้ว่าแนวทางที่ดีที่สุดควรจะเป็นวิธีการใด นอกจากนี้กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นเพศหญิง และที่ยังเป็นนักเรียนอยู่อยากให้สร้างภาพยนตร์สารคดีในแบบที่มีความประทับใจมากกว่ากลุ่มคนที่มีอายุมากที่เน้น ในเรื่องเกี่ยวกับชีวิต

ส่วนในปัจจุบันผู้สนับสนุนหรือกลุ่มทุนมีความสนใจหรือส่งเสริมและสนับสนุนภาพยนตร์สารคดีอย่างไรบ้าง รศ.ปัทมา กล่าวว่า “สิ่งสำคัญสำหรับคนเรียนภาพยนตร์ที่ควรรู้ คือวิธีการ Pitch งานในการนำเสนอ และการ Present งานของตัวเองได้ ดังนั้นต้องเล่าเรื่องและโน้มน้าวใจให้กลุ่มนายทุนเข้าใจในตัวภาพยนตร์ของเราว่ามีความพิเศษอย่างไร มีผลต่อผู้ชมในระดับไหน ดูแล้วเก็บไว้คนเดียวหรือดูแล้วทุกๆ คนลุกขึ้นมาทำสิ่งใดร่วมกันหรือเป็นภาพยนตร์ที่ต้องสืบสวนเพื่อที่จะค้นพบความจริงบางอย่าง เพราะฉะนั้นระดับในการสร้างภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์หลักว่าต้องการให้ผู้ชมมีผลตอบรับอย่างไร และด้วยเนื้อหาแบบไหน และเทคนิคการนำเสนอ ทั้ง 3 อย่างจะช่วยให้ภาพยนตร์สารคดีโดนใจผู้ชม”

นอกจากนี้ รศ.ปัทมา ยังกล่าวถึงทิศทางในการทำภาพยนตร์สารคดีไทย และข้อควรปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรในด้านภาพยนตร์สารคดี ว่า “ในปัจจุบันภาพยนตร์สารคดียังต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์ เร็วๆ นี้ก็มีกรณีของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง”เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และเรื่องของแรงงานต่างชาติซึ่งมีบางฉากที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ คณะกรรมการมีมติให้เอาบางฉากที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ออก โดยเอาบางฉากออกที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ซึ่งผู้สร้างเองก็ยอมเอาออกเพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหากัน แต่ในส่วนของเรทติ้งกับภาพยนตร์สารคดีจริงๆ แล้วไม่ค่อยเป็นปัญหา แต่หากเมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศก็มีการพูดหรือตีแผ่ข้อเท็จจริงได้เต็มที่ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Fahrenheit 9/11 ของไมเคิล มัวร์ ถูกสร้างขึ้นเพื่อตีแผ่ว่าทำไมผู้ก่อการร้ายถึงโจมตีประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งภาพยนตร์ได้ตีแผ่ว่าจริงๆ แล้วเป็นเรื่องของธุรกิจน้ำมันของประธานาธิบดีบุช สำหรับประเทศไทยเมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายก็ไม่มีการแบนแต่อย่างไร ซึ่งมีข้อกำหนดควบคุมอยู่ว่าต้องไม่ทำภาพยนตร์ที่ทำให้ประเทศชาติเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง ยิ่งในต่างประเทศยิ่งไม่มีการปิดกั้นใหญ่”

รศ.ปัทมา กล่าวต่อว่า “ส่วนการผลิตภาพยนตร์สารคดีบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนผู้กำกับภาพยนตร์ โปรดิวเซอร์ หรือผู้เขียนบท ก่อนอื่นต้องมีอุดมการณ์ว่าอยากให้ผู้ชมเข้าใจในเรื่องอะไรที่ลึกซึ้งมากขึ้น เช่น เรื่องการสูบบุหรี่มันควรไม่ใช่เป็นเรื่องแค่สูบบุหรี่แล้วเป็นมะเร็ง อันนั้นไม่ต้องทำแล้ว แต่ควรเป็นเรื่องที่บอกว่ามันใช่หรือไม่ใช่ ดีหรือไม่ดี ถ้าบอกว่าไม่ดีก็ต้องมีข้อสนับสนุนแนวคิดของเขา คนที่ทำภาพยนตร์สารคดีได้ต้องขยันจริงๆ”